เรื่องการเห็นธรรมได้หรือไม่ได้นี้
เป็นเรื่องสำคัญ เพราะ ถ้าคนไปเชื่อว่า “ตาเห็นธรรมไม่ได้” กันมากๆ เข้า
ศาสนาพุทธก็คงจะอยู่ไม่ได้
วันนี้จึงจะนำความรู้เกี่ยวกับตาในศาสนาพุทธมาศึกษากันให้ถ่องแท้
ข้อมูลแรกเป็นของพจนานุกรมพุทธศาสตร์
ฉบับประมวลธรรม ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ท่านเขียนเกี่ยวกับเรื่อง จักขุ 5 ไว้ดังนี้ [จักขุเป็นมาจากภาษาบาลี จักษุมาจากภาษาสันสกฤต]
จักขุ 5 (พระจักษุอันเป็นสมบัติของพระผู้มีพระภาคเจ้า)
มังสจักขุ (ตาเนื้อ คือ
ทรงมีพระเนตรอันงาม มีอำนาจ เห็นแจ่มใส ไว และเห็นไกล )
ทิพพจักขุ (ตาทิพย์ คือ
ทรงมีพระญาณอันเห็นหมู่สัตว์ผู้เป็นไปต่างๆ กัน ด้วยอำนาจกรรม)
ปัญญาจักขุ (ตาปัญญา คือ
ทรงประกอบด้วยพระปัญญาคุณยิ่งใหญ่ เป็นเหตุให้สามารถตรัสรู้อริยสัจจธรรม เป็นต้น)
พุทธจักขุ (ตาพระพุทธเจ้า คือ
ทรงประกอบด้วยอินทรีย์ปโรปริยัตตญาณ และอาสยานุสยญาณ
เป็นเหตุให้ทรงทราบอัธยาศัยและอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์
แล้วทรงสั่งสอนแนะนำให้บรรลุคุณวิเศษต่างๆ ยังพุทธกิจให้บริบูรณ์)
สมันตจักขุ (ตาเห็นรอบ คือ
ทรงประกอบด้วยพระสัพพัญญุตญาณ อันหยั่งรู้ธรรมทุกประการ)
ข้อความนี้
ถ้าอ่านอย่างผิวเผินหรืออ่านแบบที่เห็นว่าพระธรรมปิฎกเป็นคนดีศรีสังคม
ก็คงไม่คิดอะไร แต่การอ่านของผม เห็นความไม่ชอบมาพากลของพระประยุทธ์/พระธรรมปิฎก/พระพรหมคุณาภรณ์อย่างแจ่มแจ้ง
ผมบอกไปแล้วหลายครั้งหลายแห่งหลายที่ว่า
พระประยุทธ์เชื่อวิทยาศาสตร์มากกว่าศาสนา เรื่องจักษุที่เห็นเกินวิทยาศาสตร์นี่
พระประยุทธ์ยอมรับไม่ได้ เพราะ ไม่เข้ากับวิทยาศาสตร์
แต่ในพระไตรปิฎกมีจักษุที่เห็น
“สิ่ง” ที่วิทยาศาสตร์รับไม่ได้เต็มไปหมด ทีนี้จะทำยังไง พระประยุทธ์ก็เล่นฤาษีแปลงสาร ตีความไปว่า
จักขุ/จักษุต่างๆ เหล่านั้นเป็นของพระพุทธเจ้า
ตอนนี้พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว จักขุ/จักษุต่างๆ เหล่านั้นก็ไม่มีอีกแล้ว
นี่คือพฤติกรรมและข้อเขียนของพระประยุทธ์/พระธรรมปิฎก/พระพรหมคุณาภรณ์
จักษุ (ศาสนาพุทธ) จักษุ หรือ จักขุ
ในทางพระพุทธศาสนา มีความหมายสองประการ คือ
มังสจักขุ ได้แก่
นัยน์ตาเนื้อใช้มองดูสิ่งต่างๆได้ เช่น นัยน์ตาของสัตว์ทั้งหลาย
ปัญญาจักขุ ได้แก่
ความสามารถในการรู้เรื่องต่างๆ ด้วยปัญญา คือ เป็นการรู้ได้ทางใจ
ไม่ใช่รู้ได้ด้วยนัยน์ตา
ปัญญาจักขุในทางพระพุทธศาสนาแสดงไว้เป็นห้าชนิด
คือ
พุทธจักขุ หมายถึง
ญาณปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่หยั่งรู้ในอัธยาศัยของสัตว์โลกทั้งปวงได้ เรียกว่า
อาสยานุสยญาณ และญาณปัญญาที่สามารถรู้
นามอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย ว่ายิ่งหรือหย่อนเพียงใด ที่เรียกว่า
อินทรียปโรปริยัตติญาณ
สมันตจักขุ หมายถึง
ญาณที่สามารถรอบรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งบัญญัติและปรมัตถธรรม ที่เรียกว่า
สัพพัญญุตญาณ
ญาณจักขุ หมายถึง ญาณปัญญาที่ทำให้สิ้นอาสวกิเลส
เรียกว่า อรหัตมรรคญาณ หรือ อาสวักขยญาณ
ธรรมจักขุ หมายถึง
ญาณปัญญาของพระอริยบุคคลเบื้องต่ำทั้งสาม คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี
ทิพพจักขุ หมายถึง
ญาณปัญญาที่สามารถรู้เห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่ไกลแสนไกล ได้อย่างละเอียด ด้วยอำนาจของ
สมาธิจิต ที่เรียกว่า อภิญญาสมาธิ
ปัญญาจักขุห้าประการนี้ สมันตจักขุ พุทธจักขุ
ย่อมมีได้แต่เฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น
ส่วนปัญญาจักขุที่เหลืออีกสามประการ
ย่อมเกิดแก่ พระอริยบุคคลอื่นๆ หรือฌานลาภีบุคคล ที่ได้ทิพพจักขุญาณ
ตามสมควรแก่ญาณ และบุคคล
พวกที่เขียนวิกิพิเดียก็บิดเบือนไปอีกแบบ
คือ มีจักขุ/จักษุขึ้นมาอีกประเภทหนึ่ง คือ “ธรรมจักขุ”
ซึ่งไม่ควรจะเข้ามาอยู่ในเรื่องจักขุ/จักษุ 5 ประเภท
สิ่งที่วิกิเดียเขียนต่างไปจากข้อเขียนของพระประยุทธ์ก็คือ
ไปจัดให้ “สมันตจักขุ พุทธจักขุ ย่อมมีได้แต่เฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น” จักขุที่เหลือเป็นของคนอื่นได้
การอธิบายจักขุ/จักษุของพระประยุทธ์กับวิกิพิเดียนั้น
ผมว่าคนเขียนก็ไม่รู้จริงๆ ว่าจักขุ/จักษุ 5 ประเภทนั้นเป็นอย่างไร อ่านมาอย่างไร ก็เขียนไปอย่างนั้นเอง
วิชาธรรมกายนั้น
อธิบายเรื่องจักขุ/จักษุ 5 ได้อย่างถูกต้องที่สุด
และเนื้อหาก็สอดคล้องไปในทำนองเดียวกัน
ไม่ว่าจะนำมาจากหนังสือเล่มไหน
หลวงปู่ชั้วได้เขียนเรื่องที่เกี่ยวกับจักขุ/จักษุ
5 ประเภท ไว้ดังนี้
เมื่อรู้เรื่องกายซ้อนกันแล้ว
ก็ฟังง่ายเข้า เมื่อรู้เรื่องกายทิพย์นี้แล้วก็จะได้ดำเนินต่อไป
กายในกายนับ
ตั้งแต่กายมนุษย์หยาบหรือกายเนื้อ ก็มีกายมนุษย์ละเอียด, กายทิพย์หยาบ,
กายทิพย์ละเอียด ซึ่งเป็นกายที่สี่นับจากกายมนุษย์
ถึงกายนี้แล้ว ก็จะสามารถทำกัมมัฏฐานได้
๓๐ ที่ตั้ง ตั้งแต่กสิณ ๑๐,
อสุภะ ๑๐, และอนุสสติ ๑๐ ตาของกายนี้
เป็นทิพยจักษุสามารถเห็นสวรรค์ นรก เปรต อสุรกาย
แล้วเอากายทิพย์นี้แหละ ไปนรก สวรรค์
เปรต อสุรกาย ได้ทุกแห่ง ไปพูดจาปราศรัยกันกับพวกเหล่านั้นได้
ถามถึงบุรพกรรมทุกข์สุขกันได้ทั้งนั้น
แต่ว่ายังไม่เห็นพรหมโลกเพราะละเอียดกว่าสวรรค์มาก
ดวงธรรมในกายทิพย์นี้เรียกว่า ทุติยมรรค
พอขยายออกเป็นปฏิภาคใหญ่เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ก็จะเห็นกายที่ ๕ ขึ้นอีก
ผุดขึ้นที่กลางดวงทุติยมรรค เรียกว่า
กายรูปพรหมหยาบ และในกลางกายรูปพรหมหยาบก็มีกายรูปพรหมละเอียด เป็นกายที่ ๖
กายนี้สวยงามประดับประดาอาภรณ์ยิ่งกว่าเทวดา
กายนี้ทำกัมมัฏฐานได้ ๔ ที่ตั้ง คือรูปฌาน ๔ ดวงตาของกายนี้เป็นปัญญาจักษุสามารถเห็นพรหมโลกทั้ง ๑๖ ชั้น
แล้วเอากายนี้ไปพรหมโลกทั้ง ๑๖ ชั้นได้
ไปไต่ถามทุกข์สุขกับรูปพรหมทั้ง ๑๖ ชั้นได้ แต่ว่ายังไม่เห็นอรูปพรหม ๔ ชั้น
เพราะละเอียดกว่ารูปพรหมมาก
ต้องเอาเห็น จำ คิด รู้
เข้าไปหยุดนิ่งอยู่เหนือสะดือสองนิ้วมือในกลางกายรูปพรหมที่ ๖ นี้อีก
ดวงธรรมในกายนี้เรียกว่า ตติยมรรค
พอขยายเป็นปฏิภาคใหญ่ออกไปเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์
ก็จะเห็นกายอรูปพรหมหยาบ
ในกลางกายอรูปพรหมหยาบก็จะเห็นกายอรูปพรหมละเอียดเป็นกายที่ ๘
กายรูปพรหมนี้สวยงามยิ่งขึ้นไปอีก
กายนี้ทำกัมมัฏฐานได้ ๖ ที่ตั้ง คือ
อรูปฌาน ๔ และ อาหาเรปฏิกูลสัญญา กับจตุธาตุววัตถานะ รวมเป็น ๔๐ กัมมัฏฐานด้วยกัน
ดวงตาของกายนี้
เป็นสมันตจักษุสามารถเห็นอรูปพรหม ๔ ชั้น แล้วเอากายนี้ไปอรูปพรหม ๔ ชั้นได้
ไปไต่ถามทุกข์สุขกันได้ แต่ยังไม่เห็นนิพพาน
ต้องเข้าไปนิ่งอยู่เหนือศูนย์สะดือสองนิ้วมือ
ในกลางกายอรูปพรหมละเอียดซึ่งเป็นกายที่ ๘ นี้อีก ดวงธรรมในกายนี้เรียกว่า
จตุตถมรรค
พอขยายเป็นปฏิภาคใหญ่เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์
ก็จะเห็นกายอีกกายหนึ่งเป็นกายที่ ๙ กายนี้เรียกว่า “ธรรมกาย”
เหมือนพระพุทธรูป
เกตุแหลมเหมือนดอกบัวตูม สวยงาม ใสเหมือนแก้ว ดวงตาของกายนี้เรียกว่า พุทธจักษุ เห็นนิพพาน
แล้วเอากายนี้แหละไปนิพพานได้
พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนก็เห็นหมด ทั้งขาว กลาง ดำ ไปพบปะเห็นทั้งนั้น
เรื่องห่มผ้าม้วนขวา ม้วนซ้ายจะไปรู้เรื่องได้หมด
จะเห็นว่า
หลวงปู่ชั้วเขียนเรื่อง ตา/จักขุ/จักษุไว้ชัดเจนมาก สอดคล้องกับการสอนเรื่อง 18
กาย สอดคล้องกันหมด และสมเหตุสมผล
ทิพยจักษุ
สามารถเห็นสวรรค์ นรก เปรต อสุรกาย
ปัญญาจักษุ
สามารถเห็นพรหมโลกทั้ง ๑๖ ชั้น
สมันตจักษุ
สามารถเห็นอรูปพรหม ๔ ชั้น
พุทธจักษุ เห็นนิพพาน
เมื่อรวมกับมังสจักษุ
ตาก็มี 5 ประเภท เมื่อมีตาสำหรับศึกษาศาสนาพุทธในเรื่องที่ละเอียดๆ
ถึง 4 ประเภท ดังนั้น
ตาก็ต้องเห็นธรรมะได้